ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างกล้องดิจิตอลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แถมยังมีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะกล้องดิจิตอลประเภท D-SLR จนทำให้ใครหลายคนโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา หันมาสนใจและใช้กล้องประเภทนี้กันมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาและพบได้บ่อยครั้ง คือ มือใหม่หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อกล้องประเภทนี้
D-SLR เป็นกล้องดิจิตอลสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ดัดแปลงจากกล้องฟิล์ม 35 mm. มาเป็นระบบดิจิตอล และใช้เซ็นเซอร์ในการรับภาพ โดยมีระบบการทำงาน รวมถึงคุณสมบัติต่างๆเหนือกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพ็คทั่วไป ซึ่งปัจจุบันราคาของกล้องประเภทนี้ถูกลงกว่ายุคก่อนมาก เป็นเหตุให้มือใหม่โจนเข้าสู่วงการการถ่ายภาพมากขึ้น
จากกระแสดังกล่าว ช่างภาพมืออาชีพอย่าง “วิชัย จิตลลิต” หรือที่คนในวงการถ่ายภาพรู้จักกันดีในชื่อ “น้าจุก” แสดงความเห็นว่า หากใครสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ก็ควรเลือก D-SLR คงเหมาะกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพ็ค เพราะระบบการทำงานต่างๆ ตอบสนองใกล้เคียงกับกล้องฟิล์ม SLR ในสมัยก่อน และในปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เริ่มพัฒนาหลักสูตรการถ่ายภาพด้วยกล้อง D-SLR บ้างแล้ว
ส่วนการเลือกเลนส์ วิชัยแนะนำว่า ให้ลองใช้ Normal Lens ที่ติดกล้องไปก่อน เพราะการเริ่มต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์ราคาแพง ควรใช้เวลาเรียนรู้ว่า ตนเองชอบการถ่ายภาพแนวไหน ศึกษาให้ถ่องแท้ โดยใช้เลนส์ normal ฝึกมือไปเรื่อยๆจนเชี่ยวชาญ แล้วค่อยตัดสินใจซื้อเพิ่มเติมภายหลังก็ได้ “ช่างภาพวัยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องไปซื้อเลนส์ระดับโปร อย่าไปคิดว่า ถ่ายด้วยเลนส์ราคาแพง แล้วภาพจะสวยได้ทันที การเริ่มต้นด้วยเลนส์ติดกล้อง ก็สามารถถ่ายภาพให้สวยได้ จริงอยู่ว่า เลนส์ราคาแพงมีคุณสมบัติบางอย่างที่ดีขึ้น แต่นักศึกษาเอง ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของงบประมาณด้วย”
ช่างภาพมากประสบการณ์ ยังแนะวิธีพัฒนาฝีมือในการถ่ายภาพว่า การศึกษาจากหนังสือ หรือเว็บไซต์ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้ได้รู้เทคนิคต่างๆมากมาย แต่การปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด “น้องๆ ควรไปลองฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยตัวเอง ไปกันเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือไปร่วมกิจกรรมการถ่ายภาพกับชมรม กลุ่มต่างๆ เพื่อจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ แนะนำ และได้เรียนรู้เทคนิคจากช่างภาพที่มีประสบการณ์ นำมาประยุกต์ใช้ ข้อสำคัญ การที่เราไปกับเพื่อนหลายๆกลุ่ม ย่อมเกิดความรู้สึกสนุกสนาน รักการถ่ายภาพมากขึ้น และทำให้น้องๆได้ฝึกฝนการถ่ายภาพหลายๆแนวอีกด้วย ส่วนการเปิดตำราอ่านนั้น ได้ความรู้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การออกไปถ่ายรูปบ่อยๆ คือ สิ่งที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาทักษะฝีมือการถ่ายภาพให้ตนเองได้”
อย่างไรก็ตาม วิชัย แนะนำข้อคิดเตือนใจสำหรับมือใหม่ว่า หากคิดจะฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยการออกไปรับงานสำคัญๆ เช่น งานรับปริญญา หรืองานแต่งงาน ควรเริ่มต้นจากการเป็นผู้ติดตาม หรือตากล้องมือสองเสียก่อน
“ผมไม่แนะนำให้น้องๆไปรับงานเอง เพราะเสี่ยงไป การที่เราจะไปรับผิดชอบวันสำคัญ หรือเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของบุคคลอื่นนั้น ควรเริ่มจากการเป็นช่างภาพรอง ติดตามช่างภาพหลักเพื่อฝึกประสบการณ์ให้ชำนาญในระดับหนึ่งเสียก่อน เมื่อมีความเข้าใจ มีฝีมือมากพอแล้ว จึงค่อยไปรับงานเอง”
สุดท้าย ช่างภาพมือโปร ยังฝากคำคมสำหรับการถ่ายภาพให้กับน้องๆมือใหม่ว่า “อย่าไปให้ความสำคัญกับกล้อง และอุปกรณ์ราคาแพงมากจนเกินไป เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพให้สวยงามนั้น คือ คนหลังกล้อง”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 มีนาคม 2553 08:56 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น